อะไรคือเพลงอีแซว เพลงอีแซวคืออะไร?

     

       เพลงพื้นบ้าน สุพรรณบุรี มีเพลงพื้นบ้านที่ร้องเล่นกันมาแต่สมัยโบราณ เช่น เพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เพลงอีแซว ด้วยสุพรรณบุรีเป็นเมืองเกษตรแต่ดั้งเดิม อาชีพหลักคือการทำนา และประเพณีสำคัญที่ชาวสุพรรณรู้จักดี ก็คือประเพณี "ลงแขกเกี่ยวข้าว" คนสุพรรณเป็นคนที่มีนิสัยรื่นเริงชอบความสนุกสนาน เมื่อออกแรงทำนาเกี่ยวข้าว ก็จะหาอะไรที่สนุกเล่น แก้เหนื่อย ทำให้เกิดความคึกคัก ในระหว่างทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดเพลงพื้นบ้านขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเต้นกำ เพลงสงฟาง คนสุพรรณเล่นเพลงเหล่านี้มา ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวดสืบต่อกันมา และขยายเป็นแหล่งชุมเพลงใหญ่ของประเทศ การเล่นเพลงพื้นบ้านนั้น ไม่ได้เล่นแค่คนสองคน แต่เล่นกันเป็นหมู่คณะ คนใหนเก่งก็เป็นพ่อเพลง แม่เพลง เก่งน้อยหน่อยว่าเองไม่ได้ ก็เป็นลูกคู่คอยกระทุ้ง บางคนก็คอยเคาะจังหวะ ตีเกราะ เคาะไม้ ตามสนุกพวกที่ร้องเล่นไม่ได้ ก็นั่งฟังหรือกระโดดโลดเต้นไปตามจังหวะ




ภาพการขับร้องเล่นเพลงอีแซว


     
 เพลงอีแซว เป็นเพลงพื้นบ้านประจำท้องถิ่นของ สุพรรณบุรี มีกำเนิดและแพร่หลายในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีและใกล้เคียง เพลงอีแซวมีความเป็นมาที่ยาวนาน มากกว่า 100 ปี โดยในช่วงแรกๆ นั้นมีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากย์ ( เพลงโต้ตอบ ) ที่หนุ่มสาวใช้ร้องยั่วเย้า เกี้ยวพาราสีกันอย่างง่ายๆ สั้นๆ กระทั่งเมื่อ 60-70 ปีที่ผ่านมาจึงได้พัฒนาเป็นเพลงปฏิพากย์ยาวคือมีเนื้อเพลงที่ใช้ร้องในแต่ละครั้งยาวมากขึ้น พร้อมกับมีการดัดแปลงทำนองและลักษณะการร้องรับของลูกคู่ นอกจากนั้นยังได้มีการพัฒนาเสื้อผ้าของผู้แสดง โดยจะนุ่งโจงกระเบนทั้งฝ่ายชายและหญิง ส่วนเสื้อนั้นฝ่ายหญิงจะใส่เสื้อแขนสั้นคอกลมหรือ คอเหลี่ยมกว้าง ฝ่ายชายมักจะใส่เสื้อแขนสั้นคอกลม สร้างสรรค์ความสะดุดตาด้วยสี ที่ฉูดฉาดเพื่อดึงดูดใจผู้ชม ด้วยความนิยมในเพลงอีแซวทำให้สามารถแสดงได้เกือบทุกสถานที่และทุกโอกาสเพียงแต่ จะไม่มีการแสดงในงานแต่งงาน



Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial 4.0 International License.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น